ประวัติอนุสาวรีย์ทหารพลร่ม กรมรบพิเศษที่ 1 : Thai Army Paratroopers Monument
กองพันทหารพลร่ม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2497 หน่วยได้มีวิวัฒนาการมาจนถึง พ.ศ.2512 พันเอกรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองรบพิเศษ พลร่มที่ 1 ดำริว่า พวกเราทหารพลร่มได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และราชการสนามทั้งในประเทศหรือต่างประเทศจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะมากยิ่งขึ้นในอนาคต สมควรที่จัดตั้งให้มีสถานที่จารึกชื่อของเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ บุตร-หลาน และวงศ์ตระกูลอนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึง วีรกรรมความกล้าหาญในการพลีชีพเพื่อชาติของเขาเหล่านั้น
ขั้นตอนในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ได้คัดเลือกนายทหารที่รูปร่างหน้าตาดี สัดส่วนเป็นชายชาติทหาร มาเป็นหุ่นทำการถ่ายภาพในลักษณะท่าทางต่างๆ เพื่อส่งให้กรมศิลปากรเป็นแบบในการปั้น หุ่นทหารพลร่ม ร้อยโทศิริธัช สุวรรณศิริ ได้รับการคัดเลือกเป็นหุ่นหรือแบบในการถ่ายภาพ กรพ.(พร.) ที่ 1 ได้ถ่ายภาพในลักษณะท่าทางต่างๆ ส่งไปให้กรมศิลปากรจนเวลาล่วงเลยไปนาน การดำเนินการปั้นหุ่นเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่จากแผนกสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้ชี้แจงว่ารูปถ่ายที่ส่งมา ไม่สามารถทำการปั้นให้ได้ เพราะว่าเมื่อปั้นเสร็จแล้วรูปปั้นจะออกมาไม่มีชีวิตชีวา เป็นภาพที่ไม่แสดงถึงความรู้สึกนึกคิดอะไรและไม่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของทหารพลร่ม
3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก – The Thai Veterans Day
ดังนั้น ร้อยเอกอุดม เกษพรหม ผบ.ร้อย.จป. ผู้ติดต่อจึงอธิบายถึงหน้าที่และภารกิจของทหารพลร่มให้อาจารย์ที่ทำหน้าที่ปฏิมากรทราบ อาจารย์ฯ จึงออกแบบให้ใหม่โดยให้ จ่าสิบเอกสมพร ภักดีเสนา ซึ่งทำหน้าที่จ่ากองร้อยแต่งเครื่องแบบชุดฝึกของทหารพลร่ม ถือปืนแบบ 87(ปสบ.87) ยืนบนแท่นสูงแสดงแบบในท่าทางต่างๆ กัน จนในที่สุดก็ได้ข้อยุติในภาพทหารพลร่มมือขวาถือ ปสบ.87 มือซ้ายชี้ไปข้างหน้าในลักษณะสั่งการดังที่เป็นอนุสาวรีย์ทหารพลร่มอยู่ในปัจจุบัน
การปั้นหุ่นใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงเสร็จเรียบร้อย ขณะปั้นหุ่นอยู่ที่กรมศิลปากร พันเอกรวมศักดิ์ฯ ก็ให้จัดสร้างแท่นรูป 6 เหลี่ยม, 4 ชั้น, สูง 2.7 เมตร ไว้รองรับรูปปั้น ณ บริเวณหน้ากองบังคับการกองรบพิเศษ พลร่มที่ 1 และให้ทำแผ่นทองเหลืองจารึก ยศ-นาม กำลังพลของกองรบพิเศษ พลร่มที่ 1 ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ปิดไว้ที่ด้านหน้าและด้านข้างของแท่น
ประวัติการสร้างอนุสาวรีย์ทหารพลร่มครั้งแรก มีที่ตั้งบริเวณหน้ากองบังคับการกองรบพิเศษ พลร่มที่ 1 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2526 พลตรีวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ได้ดำริว่าสมควรมีการปรับปรุงให้อนุสาวรีย์แห่งนี้มีที่ตั้งที่เหมาะสมมีความสง่างาม สมเกียรติภูมิของบรรดาเหล่าทหารพลร่ม และเป็นที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไป สมควรนำอนุสาวรีย์ทหารพลร่มไปประดิษฐานไว้ ณ วงเวียนหน้าค่ายวชิราลงกรณ์ จึงได้สั่งการให้ พันเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ทำการปรับปรุงบริเวณพื้นที่บริเวณวงเวียนเพื่อทำการก่อสร้างต่อไป และเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ทหารพลร่มมาจนถึงปัจจุบัน